วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


ตำนานดอกโบตั๋น "ราชาแห่งดอกไม้"


       แต่กาลก่อนที่บนโลกใบนี้มิได้มีการกำหนดว่า ดอกไม้ดอกใดให้เป็นที่สุด เป็น "ราชาแห่งดอกไม้"ทำให้เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิของทุกปี ดอกไม้นานาพรรณต่างก็แข่งขันกันชูช่อเบ่งบานอวดให้ดวงตะวันชื่นชมความสวยงามของตนด้วยความที่ไม่อยากให้มวลหมู่ดอกไม้ทะเลาะเบาะแว้งกันไปมากกว่านี้
               ครั้งหนึ่งดวงตะวันจึงจัดประกวดดอกไม้ขึ้นโดยดวงตะวันจะเป็นกรรมการตรวจตรามวลหมู่ดอกไม้ทั้งหมดด้วยตัวเองว่าดอกไม้ดอกไหนกันแน่ที่เป็น "ราชาแห่งดอกไม้" ตัวจริง
            ตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนบรรดาเด็กๆ จะลืมตาตื่นขึ้นมา ดวงตะวันก็เริ่มออกทำงานเสียแล้วดวงตะวันเดินท่อมๆ ตั้งแต่ทิศตะวันออกไปจรดทิศตะวันตกพิศมองดอกไม้ทั้งหลายทั้งมวลว่ามีลักษณะเช่นไรบ้าง ช่อสูงเท่าไหร่ ดอกใหญ่เพียงไรกลีบมีกี่ชั้น หอมหรือไม่ สีสันมีกี่แบบ มีพี่น้องมากมายขนาดไหน ฯลฯ ทุกวัน
             ดวงตะวันต้องยุ่งเช่นนี้จนกระทั่งฟ้ามืด .... ไม่ว่าจะแห่งหนตำบลใดเมื่อดวงตะวันเดินทางผ่านดอกไม้ส่วนใหญ่ก็จะรีบเผยกลีบอวดชูความสวยสดของตนเองขณะที่บางดอกก็พยายามเอาใจดวงตะวันแอบกระซิบว่า  ตนเองจะเปลี่ยนชื่อโดยใส่คำว่า "ตะวัน" เข้าไปในชื่อด้วย

          ส่วนบางดอกก็พยายามติดสินบนด้วยการส่งน้ำดอกไม้ให้ดวงตะวันชิมบ้างก็พยายามแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนโค้งคำนับอย่างสวยงามเมื่อดวงตะวันเดินผ่าน .....ผ่านมาหลายบ่าย ดวงตะวันก็ยังตกลงปลงใจไม่ได้เสียทีว่าจะยกให้ใครเป็น "ราชาแห่งดอกไม้" ดี
         จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อดวงตะวันผ่านมายังนครลั่วหยาง บ้านของดอกโบตั๋นแต่กลับไม่พบโบตั๋นสักดอกออกมาแสดงการต้อนรับดังเช่นที่ผ่านมาเห็นดังนั้น ดวงตะวันจึงรู้สึกไม่พอใจและนึกในใจว่า "เจ้าดอกโบตั๋น!ดอกไม้ทั้งหลายเมื่อเห็นข้าต่างก็กุลีกุจอออกมาต้อนรับขับสู้ ดี!ข้าก็อยากรู้นักว่าเจ้าจะแน่ จะเลิศเลอสักแค่ไหน ....."
         กล่าวจบดวงตะวันจึงแปลงกายเป็นชายแก่เคราขาวดกเดินเข้าไปในสวนโบตั๋นในสวนโบตั๋น ดวงตะวันในร่างชายแก่จึงพบว่าเหล่าโบตั๋นนั้นงดงามกว่าดอกไม้ใดๆที่ตนเคยพบเห็นมาทั้งหมด บรรดาโบตั๋นต่างมีกลีบดอกบางที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ นับไม่ถ้วนสีสันต่างก็สดสวยทั้งขาว แดง เหลือง ม่วง เขียว ฯลฯ บ้างบนกลีบก็ไล่โทนสีจากอ่อนไปแก่
            บางดอกใหญ่โตดูโอฬารสูงถึง 2-3 เมตร ส่วนดอกที่ยังเล็กๆ ต่างก็แอบชื่นชมดอกใหญ่อยู่ในทีโดยโบตั๋นแต่ละดอกต่างก็มีเอกลักษณ์ของตนเองแตกต่างกันไป
            หลังจากกลับออกมาจากสวนโบตั๋น ....เช้าวันรุ่งขึ้น ดวงตะวันก็ประกาศยกให้ "โบตั๋นเป็นราชาแห่งดอกไม้ทั้งมวล "โดยไม่มีดอกไม้อื่นใดในโลกหล้ากล้าส่งเสียงคัดค้านแต่อย่างใด


ดอกโบตั๋น หรือ หมู่ตาน เป็นดอกไม้ที่มีความหมายพิเศษสำหรับชาวจีน โดยนับแต่อดีตถึงปัจจุบันชาวจีนส่วนใหญ่ถือว่า โบตั๋น เป็นหนึ่งในดอกไม้สัญลักษณ์ของประเทศ เพราะนอกจากมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จีนแล้ว ยังเป็นที่นิยมและมีปลูกกันอย่างแพร่หลาย ในปี พ.ศ.2446 (ค.ศ.1903) ขณะที่จีนยังอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงนั้น ราชสำนักชิงได้ประกาศให้โบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติจีน แต่เมื่อจีนเปลี่ยนระบอบการปกครองกลายเป็นสาธารณรัฐจีน ก็เปลี่ยนมาใช้ดอกเหมย (เหมยฮวา) เป็นดอกไม้ประจำชาติ โดยถึงปัจจุบันคนไต้หวันนั้นก็ยังถือว่า ดอกเหมยเป็นดอกไม้ประจำของเกาะไต้หวันอยู่ ต่อมาเมื่อจีนเปลี่ยนการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ.2492 (ค.ศ.1949) จนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการทำการสำรวจความเห็นของประชาชน และประชาชนส่วนมากก็ยกให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติหลายครั้ง แต่อย่างไรก็ตามด้วยความเห็นที่แตกต่างและการถกเถียงที่ยังไม่จบสิ้นในที่ประชุมใหญ่สภาประชาชนจีน จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีมติรับรองให้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติจีนอย่างเป็นทางการเสียที (ขณะที่ฮ่องกงนั้น ใช้ดอกจื่อจิง เป็นสัญลักษณ์ประจำเกาะ) ดังเช่นที่นิทานข้างต้นกล่าว ลั่วหยางถือเป็นบ้านของดอกโบตั๋น ทำให้ลั่วหยางมีอีกชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า นครโบตั๋น



ก่อน ราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) -ราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ดอกโบตั๋นไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเท่าใดนัก โดยชาวจีนทราบกันตั้งแต่ในสมัยฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220) ว่าพืชชนิดนี้มีคุณสมบัติสามารถทำเป็นยา (รากของดอกโบตั๋นสามารถใช้ทำเป็นยาเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับระดูผิดปกติในสตรี โรคหืด โรคชักได้) จนกระทั่งในสมัยของบูเช็กเทียน (อู่เจ๋อเทียน) จักรพรรดินีองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนขึ้นครองราชย์ ด้วยความที่พระองค์ทรงโปรดดอกโบตั๋นมาก จึงทำให้โบตั๋นกลายเป็นดอกไม้ที่แพร่หลายในเมืองฉางอาน เมืองหลวงของจีนในสมัยถัง โดยทั้งนี้ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แหล่งกำเนิดของดอกโบตั๋นในประเทศจีนก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด บ้างว่าพระนางบูเช็กเทียนนำดอกไม้ชนิดนี้มาจากบ้านเกิดบ้างว่านำมาจากจิงโจว


  ครั้งหนึ่งกลางฤดูหนาว  พระนางบูเช็กเทียนอยากชมดอกไม้ จึงออกคำสั่งให้ดอกไม้ทั้งหมดในเมืองฉางอานบาน ด้านเทพดอกไม้ต่างๆ เมื่อได้ยินดังนั้นก็ตกใจกลัวพากันบานโดยพร้อมเพรียง จะมีแต่ก็เพียงเทพเจ้าดอกโบตั๋นเท่านั้นที่แข็งขืนไม่ยอมบาน เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ถึงฤดูกาล หากดอกโบตั๋นบานก็จะเป็นการผิดกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ 




          ด้านพระนางบูเช็กเทียนเมื่อเห็นว่าดอกโบตั๋นไม่ยอมบาน จึงสั่งให้ขุนนางเอาไฟเผาที่ต้นเสียจนดอกโบตั๋นต้องยอมบาน  เรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่ากันต่อๆ มาว่าทำไมก้านดอกโบตั๋นจึงแห้งและมีสีเข้มเหมือนถูกไฟเผา

**อย่างไรก็ตาม เรื่องยังไม่จบเพราะแม้สุดท้ายดอกโบตั๋นจะยอมบาน แต่พระนางบูเช็กเทียนก็ทรงยังไม่พอพระทัย สั่งให้ย้ายดอกโบตั๋นทั้งหมดออกจากฉางอานไปยังลั่วหยาง และนี่เองเป็นสาเหตุว่าทำไมลั่วหยางจึงกลายเป็นถิ่นถาวรของดอกโบตั๋นในที่สุด 
ดอกโบตั๋นสำหรับชาวจีน นอกจากจะมีความหมายเกือบจะเป็นดอกไม้ประจำชาติแล้ว เนื่องจากความใหญ่อลังการของลักษณะดอก ยังทำให้โบตั๋นเป็นสัญลักษณ์ถึงความเป็นผู้ดี ความร่ำรวยและฐานะอันสูงส่ง

                ในจีนสมัยโบราณ ดอกโบตั๋นที่สวยๆ นั้นมีการเพาะเลี้ยงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในหมู่ชนชั้นสูง เป็นงานอดิเรก เพื่อความสวยงาม จนถึงขั้นเพาะเพื่อประมูลขายกันในราคาเสียดฟ้า ดังเช่นที่ ไป๋จวีอี้ กวีถัง หนึ่งในสุดยอดกวีแห่งประวัติศาสตร์จีนระบุไว้ในบทกวีที่ชื่อว่า ซื้อดอกไม้ ว่า อี้ฉงเซินเซ่อฮวา สือฮุจงเหรินฝู้ ความหมายของบทกวีท่อนนี้ พยายามสะท้อนให้เห็นว่า ในขณะนั้น โบตั๋นเพียงไม่กี่ดอกยังมีมูลค่ามากกว่าเงินภาษีของชนชั้นกลางสิบคนเสียอีก ภาพที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางด้านรายได้ และความเป็นอยู่ของประชาชนที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน โดยเพียงแค่ไม่ดอกของเล่นชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่งของเศรษฐีบรรดาสามัญชนก็มิมีสิทธิ์ที่จะคิดหรือฝันถึง ด้วยเหตุนี้ทำให้ในสมัยก่อนสามัญชน รวมไปถึงกวีชาวจีนบางกลุ่มจึงไม่นิยมชมชอบดอกโบตั๋นเท่าไรนัก แต่หันไปชื่นชมดอกไม้อื่นที่ สวยงาม และ เรียบง่ายกว่าแทน เมื่อได้อ่านบทกวีดังกล่าวแล้วก็ได้แต่ทอดถอนใจ เพราะ ถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปเพียงใด 'ประวัติศาสตร์' ก็ยังคงเป็นกงล้อที่หมุนทับรอยเดิมจริงๆ



      ปัจจุบัน ทุกปีในช่วงเดือนเมษายน ที่เมืองลั่วหยางจะมีการจัดเทศกาลดอกโบตั๋น อย่างอลังการ คึกคัก และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเทศกาลดอกโบตั๋นนี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจากทุกสารทิศ ทั้งในจีนและต่างประเทศ จนทำให้ในช่วงเดือนเมษายน ที่พัก โรงแรม และทัวร์มาลั่วหยางนั้นจะมีราคาแพงกว่าช่วงเวลาอื่นๆ สำหรับแหล่งชมดอกโบตั๋นที่มีชื่อเสียงมากในเมืองลั่วหยางนั้นได้แก่ สวนสาธารณะหวังเฉิง ที่มีสวนปลูกดอกโบตั๋น 500 กว่าพันธุ์รวม 3 พันกว่าต้น และตั้งอยู่บนพื้นที่อันเป็นที่ตั้งเดิมของพระราชวังของกษัตริย์จีนในสมัยโจวตะวันออก




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น