วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ดอกการ์ดีเนีย หรือ ดอกพุดซ้อนไม้งามแห่งสวรรค์เมืองร้อน 



เห็นกลีบดอกสีขาวราวน้ำนมที่ให้สัมผัสนุ่มนวลราวกับผิวกายหญิงสาวของดอกพุดซ้อนแล้ว ก็ชวนให้นึกถึงบทเห่ครวญของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ที่ว่า
                                            “ขาวสุดพุดซ้อนแซม         เนื้อแอร่มอร่ามเหลือง
                                            โฉมอ่ากว่าทั้งเมือง             หนแห่งใดไม่เหมือนเลย…”
ดอกพุดซ้อนนี้ถ้าเปรียบเป็นสตรีก็คงเป็นสาวผู้มีท่วงท่ากิริยาอ่อนหวานละมุนละไม ยิ่งพิศไปนานๆ ก็ยิ่งตรึงใจนัก มิใช่หญิงงามที่มีเสน่ห์ทางเพศจัดจ้านร้อนแรง สะดุดตาเพศตรงข้ามแต่แรกเห็น เพราะดอกพุดซ้อนนั้นสีสันเรียบๆ แต่แฝงเสน่ห์ลึกล้ำตรงกลีบดอกซ้อนกันราวกับผืนผ้าจับระบายหลายชั้น ทั้งยังส่งกลิ่นหวานละมุนที่ค่อยทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในยามค่ำ
ชื่อการ์ดีเนียนี้ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ Alexander Garden แพทย์และนักพฤกษศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 18 เล่ากันว่าในสมัยนั้นGardenต้องอพยพจากประเทศสก็อตแลนด์ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอน ไปยังดินแดนใหม่คือสหรัฐอเมริกา จึงต้องอยู่ห่างไกลจากแวดวงวิทยาศาสตร์ยุโรป ในช่วงเวลาที่ตัวเขาเองก็กำลังกระหายชื่อเสียงในวงวิชาการ Garden จึงมักติดต่อสมาคมกับพวกนักวิทยาศาสตร์ยุโรปอยู่เนืองๆ ซึ่งก็รวมถึง John Ellis นักธุรกิจและนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษผู้หลงใหลในพรรณไม้ต่างๆ           
Garden มักส่งตัวอย่างพันธุ์พืชและสัตว์แปลกๆ จากอเมริกาไปให้ Ellis ในกรุงลอนดอน ซึ่ง Ellis ก็จะส่งต่อไปให้ Carl Linnaeus ในประเทศสวีเดน Linnaeus ผู้นี้ก็คือปรมาจารย์ทางพฤกษศาสตร์ที่ได้รับการขนานนามว่า “King of Botany” เป็นผู้ทำให้ระบบการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เป็นภาษาละตินกลายเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบแผนปฏิบัติสืบมาถึงทุกวันนี้ Ellis นั้นเห็นว่า Garden ได้สร้างคุณูปการไว้แก่แวดวงพฤกษศาสตร์อย่างมาก จึงเสนอให้ตั้งชื่อพันธุ์ไม้สักอย่างเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา แต่ Linnaeus กลับไม่เห็นด้วย เพราะเกรงจะถูกครหาว่าเลือกเอาแต่ชื่อพรรคพวกเพื่อนฝูงมาตั้งเป็นชื่อพันธุ์ไม้ แต่นักธุรกิจชาวอังกฤษผู้นี้ก็ยังไม่ละความพยายาม กระทั่งเมื่อได้ไปเยี่ยมชมสวนแห่งหนึ่งนอกกรุงลอนดอน และได้เห็นดอกไม้แปลกหายากที่ถูกค้นพบในแถบชนบทของประเทศแอฟริกาใต้ (ภายหลังกลับพบว่าจริงๆ แล้วดอกไม้ที่ว่ามาจากประเทศจีน ไม่ใช่แอฟริกาใต้อย่างที่เคยเข้าใจกันแต่แรก) จึงได้เขียนจดหมายไปหา Linnaeus ขอร้องว่าให้ตั้งชื่อดอกไม้ชนิดนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ Garden หลังจากที่เคยพยายามเสนอชื่อพฤกษศาสตร์ไปแล้วก่อนหน้านี้หลายชื่อแต่ไม่ประสบผล                 
ด้าน Linnaeus นั้นแม้ไม่ค่อยเต็มใจนัก เพราะ Garden เองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยในการค้นพบดอกไม้ชนิดนี้ แต่ก็จำยอมตามคำขอ โดยมีข้อแม้ว่า Ellis ต้องไปตีพิมพ์ชื่อพฤกษศาสตร์ดังกล่าวเอาเอง ส่วนตัวเขาจะอ้างถึงชื่อใหม่นี้ในหนังสือ “The King Linnaeus Bible, Species Plantarum” ฉบับใหม่ที่จะตีพิมพ์ขึ้นทีหลัง นัยว่าเพื่อเลี่ยงการตกเป็นขี้ปากชาวบ้านนั่นเอง สรุปว่าตัว Alexander Garden ซึ่งเป็นที่มาของชื่อการ์ดีเนียนั้นกลับไม่เคยเห็นดอกไม้นี้เลยจนกระทั่ง Ellis ส่งไปให้เขา 2 ต้นในภายหลัง แต่ก็ตายไปทั้งคู่ จนเจ้าตัวถึงกับเชื่อว่าเป็นลางร้ายที่บอกเหตุว่าชื่อนี้คงไม่โด่งดังเป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไป แต่ต่อมาภายหลังชื่อการ์ดีเนียนี้ก็ใช้เรียกกันแพร่หลายทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
พุดซ้อนหรือการ์ดีเนียนี้ก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าจริงๆ แล้วมีถิ่นกำเนิดในจีนตอนใต้และญี่ปุ่น ชาวจีนและญี่ปุ่นถือเป็นสัญลักษณ์ของความสง่างามและความอ่อนโยนละเมียดละไมของหญิงสาว นับเป็นดอกไม้มีค่าอีกชนิดเพราะให้กลิ่นหอมหวาน ทั้งยังนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยเฉพาะทางการแพทย์แผนโบราณของจีน

 ตำนานดอกพุดซ้อนในภาคอีสานของไทยเรา


ที่ เมืองเชียงลม เชียงลา สมัยโบราณ เจ้าเมืองมีธิดาที่เลอโฉม 
และเปี่ยมด้วยเมตตา มีคุณธรรมประจำใจ ชื่อนางอินทวา 
นางมีความเมตตาต่อสัตว์เลี้ยงทุกชนิด 
วันหนึ่ง มีลูกจระเข้พลัดหลงเข้ามาบริเวณสระน้ำใกล้อุทยานท้ายวัง นางจึงเอามาเลี้ยงไว้ในตุ่มน้ำ จนจระเข้เชื่อง และมีความผูกพันกับเจ้าหญิงมาก เมื่อจระเข้โตขึ้นนางจึงนำมาปล่อยไว้ในสระน้ำข้างอุทยาน 
จนนางมีอายุ ๑๖ ปี จระเข้ก็เติบใหญ่ทุกวันนางจะมานั่งริมสระน้ำเรียกหาจระเข้เพื่อให้อาหารบางครั้งก็นั่งบนหลังจระเข้ไปเด็ดดอกบัวในสระ บางครั้งจระเข้ก็พานางนั่งบนหลังมันเพื่ออาบน้ำชมปลา และความงามของดอกบัว 
เย็นวันหนึ่ง นางอาบน้ำในสระและขี่หลังจระเข้ไปกลางสระเหมือนเคย เผอิญหวีของนางตกไปในน้ำ นางพยายามคว้าหวี เลยเสียหลักตกลงไปในสระ จระเข้เกรงนางจะเป็นอันตรายจึงเข้าช่วย โดยใช้ปากคาบไว้ แต่เนื่องจากจระเข้มีขากรรไกปากด้านบนเพียงด้านเดียว
เมื่อคาบอะไรไว้แล้วจะต้องกลืนลงท้องก่อน จึงสามารถอ้าปากได้อีก  จระเข้จึงได้กลืนร่างของนางเข้าไปแล้วเห็นว่าเป็นความผิดกลัวอาญาแผ่นดิน จึงหนีออกจากสระในเขตอุทยานเข้าไปในป่าใหญ่ พบหนองน้ำขนาดใหญ่จึงลงไปอาศัยซ่อนตัว 
ฝ่ายเจ้าเมืองเห็นนางหายไป จึงตามไปดูที่สระเห็นรอยเท้าจระเข้ขึ้นจากสระ หายไปในป่าใหญ่จึงให้เหล่าเสนาอำมาตย์แกะรอยเท้าจระเข้ไป จนถึงหนองน้ำใหญ่กลางป่าทึบ มีโขดหินสลับซับซ้อน ความลึกของหนองน้ำประมาณสองช่วงลำไม้ไผ่ และมีปลาชุกชุมมาก ก็แน่ใจว่าจระเข้หลบซ่อนตัวอยู่ในหนองน้ำนี้ 
เจ้าเมืองจึงสั่งให้ไพร่พลปิดล้อมไว้ แล้วป่าวประกาศหาหมอจระเข้ฝีมือดีมาล่าหมอจระเข้สองคนแรกเป็นชายต้องจบชีวิตลงโดยถูกพญากุมภีล์กินเป็นอาหาร ส่วนหมอจระเข้คนที่สามเป็๋นหญิง ใช้ปัญญาและไหวพริบในการปราบจระเข้ โดยได้วทำฉมวกเหล็กกางเขน มีตะขอค้ำเป็นเหล็กง่าม แม้จะถูกจระเข้งับก็ยังไม่ถึงตัว เพราะจะถูกเหล็กค้ำยันไว้ และใช้เชือกขนาดใหญ่ ปลายด้านหนึ่งผูกกับแกนเหล็ก อีกด้านหนึ่งผูกโยงกับต้นประดู่ใหญ่ ให้เสนาอำมาตย์ช่วยกันดึง
เมื่อหมอจระเข้สาว ขึ้นไปนั่งบนแะพรไม้ไผ่บริกรรมคาถาอาคมเรียกจระเข้ขึ้นมา ก็เหยีบแพไม้ไผ่ให้เอียงแล้วอ้าปากหวังบจะงับเหยื่อ หมอจระเข้สาวจึงพุ่งฉมวกเข้าไปในปากจระเข้ เมื่อจระเข้งับก็ถูกฉมวกแหลมปักติดแน่นทั้งปากบน และปากล่าง ไม่สามารถอ้าปากได้อีก
แล้วบรรดาเหล่าเสนาอำมาตย์ก็ช่วยกันสาวเชือกลากจระเข้ขึ้นฝั่ง พอจระเข้เห็นเจ้าเมืองก็รู้สึกสำนึกในความผิด  ผงกหัวขึ้นลงเป็นการแสดงความเคารพ พวกเสนาอำมาตย์ก็ช่วยกันทุบตีจนจระเข้ตาย พบศพเจ้าหญิงนางอินทวาถูกย่อยไปบางส่วนเหลือของใช้ของนางเช่นก้องแขน (กำไลข้อมือ) สร้อยพระศอ ผ้าซิ่น เจ้าเมืองได้เห็นก็เสียใจมาก 
จากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจึงประกาศตั้งชื่อหนองน้ำดังกล่าวว่า วังสามหมอ อัฐิของเจ้าหญิงนางอินถวา ได้นำไปฝังไว้ข้างวัง ต่อมาบริเวณที่ฝังศพ ได้เกิดมีต้นไม้ชนิดหนึ่งออกดอกสีขาวสวยงาม มีกลิ่นหอม  ชาวเมืองเรียกกดอกไม้นี้ตามชื่อของเจ้าหญิงว่า ดอกอินถวา หญิงชาวบ้านนิยมใช้ดอกอินถวามาทัดหู หรือนำไปบูชาพระ ดอกอินถวาได้แพร่พันธุ์ไปอย่างกว้างขวางทั่วอีสาน ภาคกลางและภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ และเรียกดอกชนิดนี้ว่า ดอกพุดซ้อน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น