วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


to

ตำนานแห่งดอกไม้นะค่ะ
มาค่ะ มาฟังเพลงเพราะๆ  เพลง ภาษาดอกไม้ ซึ้งๆให้อารมณ์ผ่อนคลายกันก่อนนะค่ะ


พูดถึงดอกไม้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก
แต่เพื่อนๆ รู้จักตำนานของมันหรือเปล่าค่ะ
มาค่ะเรามารู้จักตำนานดอกไม้ไปพร้อมๆกันเลยค่ะ



 ตำนานดอกลีลาวดี


                มีเรื่องราวเล่าต่อ ๆ กันมาว่า แต่ก่อนนี้ ดอกลั่นทมมีเพียงสีขาวบริสุทธิ์และเป็นที่รักยิ่งของเทพแห่งแสงจันทร์ ทุกคืนที่แสงจันทร์สาดส่องดอกลั่นทมจะอวลกลิ่นหอมขจรไกล มีเทพแห่งแสงจันทร์เคียงใกล้อยู่ไม่ห่าง แต่เมื่อถึงคืนแรมอันไร้จันทร์ ดอกลั่นทม และเทพแห่งแสงจันทร์ก็โศกเศร้า  ทุกคราวที่ต้องพรากจากกัน

                  จนในคืนหนึ่ง เทพแห่งแสงจันทร์จึงเอ่ยชวนให้ดอกลั่นทมไปอยู่ด้วยกันบนดวงจันทร์แต่ ณ ที่นั้น ไม่มีหลากสีสันเช่นบนพื้นโลกทุกสิ่งล้วนอาบน้ำค้างแสงจันทร์จนเป็นสีเหลืองเรืองรอง

                " ก่อนอื่นต้องใช้น้ำค้างแสงจันทร์ระบายให้ทั่วกลีบดอก พุ่มใบและลำต้นของเธอเสียก่อนเทพแห่งแสงจันทร์กล่าว แต่ทำอย่างไรจึงจะนำน้ำค้างแสงจันทร์ลงมายังพื้นดินได้

                  ทันใดนั้นเทพแสงจันทร์พลันเหลือบไปเห็นดอกไม้สีขาวอีกชนิดหนึ่งซึ่งแย้มบานอยู่ใกล้ต้นลั่นทม  " กรวยของดอกไม้นี้ลึกพอที่จะใช้ใส่น้ำค้างได้ " เทพแห่งแสงจันทร์กล่าวอย่างยินดี




                 ดังนั้นเทพแห่งแสงจันทร์จึงนำดอกไม้สีขาวกลับไปยังดวงจันทร์เพื่อใช้บรรจุหยาดน้ำค้าเมื่อกลับมาที่ต้นลั่นทมอีกครั้งเทพแห่งแสงจันทร์ใช้พู่ดอกหญ้าจุ่มน้ำค้างแสงจันทร์จากกรวยดอกไม้  และเริ่มระบายลงที่กึ่งกลางดอกลั่นทมอย่างแผ่วเบายังผลให้ส่วนกลางของดอกไม้กลายเป็นสีเหลืองสดใส  แต่ทว่าเมื่อเทพแห่งแสงจันทร์จุ่มพู่กันลงในกรวยดอกไม้เป็นครั้งที่สาม เขาพบว่าในนั้นไม่มีน้ำค้างแสงจันทร์หลงเหลืออยู่เลย และดอกไม้แต่เดิมที่เคยเป็นสีขาวบริสุทธิ์ก็กลับกลายเป็นสีเหลืองสดใสไปทั้งดอก

              " ดอกไม้ที่ร้ายกาจขโมยน้ำค้างแสงจันทร์ไปเสียหมด "  เทพแห่งแสงจันทร์ร้องอย่างโกรธแค้น

             " ฉันไม่ได้ตั้งใจและไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรด้วย "  ดอกไม้สีเหลืองปฏิเสธ แต่เทพแห่งดวงจันทร์ไม่รับฟัง ผลุนผลันกลับไปยังดวงจันทร์อย่างรีบร้อน มีเวลาเพียงแค่คืนนี้เท่านั้น ที่น้ำค้างจะเปลี่ยนสีของดอกลั่นทมได้ เมื่อใดที่แสงอาทิตย์สาดมาต้องต่อให้ใช้น้ำค้างแสงจันทร์มากเท่าไรก็ไม่อาจเปลี่ยนสีของดอกไม้ได้อีก

             เทพแห่งแสงจันทร์กลับมาหาดอกลั่นทมอีกครั้ง ด้วยความโศกเศร้า ดวงดาวที่เหนื่อยล้าดื่มกินน้ำค้างแสงจันทร์หมดสิ้นไม่เหลือน้ำค้างแม้เพียงสักหยดเดียวสำหรับดอกลั่นทม ก่อนรุ่งอรุณ ทั้งสองลาจากกันด้วยความเศร้าระทม แต่ต่างให้สัญญาว่าจะมั่นคงกันตลอดไป

           ดอกไม้สีขาวรู้สึกละอายใจ ที่เป็นเหตุแห่งความเศร้านี้ จนไม่กล้าบานรับแสงจันทร์ได้เหมือนอย่างเคย มันแย้มกลีบบานเวลาเช้าตรู่และนอนหลับตลอดคืนอันยาวนาน จนกลายเป็นดอกไม้บานของเวลาเช้าในที่สุด  แต่สำหรับดอกลั่นทม ยังคงเศร้าใจอยู่ไม่คลาย สีเหลืองของน้ำค้างแสงจันทร์ที่ระบายไว้ คอยย้ำเตือนให้มันระลึกถึงเรื่องราวอันแสนเศร้านี้อยู่เสมอๆ ลั่นทมจึงกลายเป็นดอกไม้แห่งความเศร้าระทมตั้งแต่นั้นมา




             สำหรับดิฉันแล้ว เชื่อค่ะว่าความรักและความห่วงใยมันจะส่งผ่านถึงกันได้เสมอ ไม่ว่าระยะทางจะห่างไกลแสนไกลซักแค่ไหน ขอเพียงแต่ "ผู้ให้" ส่งออกไปด้วยความจริงใจ ส่วน "ผู้รับ" ก็เปิดใจ แล้วยิ้มรับไว้ด้วยความยินดี เพียงแค่นี้ก็จะไม่มีอะไรที่สูญหายไประหว่างระยะทางและกาล  





ตำนานรักดอกลั่นทมเชยชมหอม
เคยเด็ดดอมแซมผมน้องที่ปองหมาย
ดอกลั่นทมกลิ่นอบอวลรัญจวนใจ
ให้อาลัยเสียดายใจอาวรณ์

ชื่อลั่นทมหวั่นตรมขื่นขมนัก
อยากประจักษ์รักแก้วตาลาสังหรณ์
หวั่นจากกันไปไกลใจร้าวรอน
ขออ้อนวอนอ้อนเธอมาเจอกัน

มนฤทธิ์






ตำนานดอกบัว 


               อเมริกาเหนือเป็นต้นกำเนิดของดอกบัวสีเหลืองค่ะ ตามตำนานของอินเดียนแดงเผ่าดาโกต้า ดอกบัวเป็นวิญญาณของนางฟ้าซึ่งยอมทิ้งสวรรค์ลงมาเป็นภรรยาของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงทั้งคู่ครองรักกันอย่างมีความสุขจนกระทั่งมีลูกชายด้วยกันคนหนึ่งจนเมื่อลูกชายโตขึ้น หัวหน้าเผ่าจึงส่งลูกชายพร้อมภรรยานั่งเรือคานูข้ามทะเลสาบไปขอคำปรึกษาจากผู้รู้ว่าลูกชายคนนี้สมควรจะได้เป็นหัวหน้าเผ่าต่อจากพ่อหรือเปล่า แต่ระหว่างทางเรือได้ชนเข้ากับโขดหินนางฟ้าจึงตกลงไปในน้ำแล้วหายสาบสูญไป แต่รุ่งเช้าบริเวณโขดหินนั้นก็มีดอกไม้สีเหลืองงามสดใสเกิดขึ้นมาแทน ซึ่งก็คือ ดอกบัวนั่นเองตามตำนานนี้ดอกบัวจึงมีความหมายถึงการเกิดใหม่


                  ดอกบัวกับอียิปต์
             ชาวอียิปต์จะวางดอกบัวไว้บนหน้าอกของมัมมี่ เพื่อให้คนตายกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาในอีกหลายร้อยปีข้างหน้า และในช่วงไว้ทุกข์ญาติของคนตายก็จะถือดอกบัวเอาไว้ด้วย เพื่อเป็นเคล็ดให้คนตายกลับมาเกิดใหม่เร็วๆ



                ดอกบัวกับชาวจีน
     ชาวจีนมักจะปลูกดอกบัวไว้ในอ่างเลี้ยงปลาทองเพื่อให้ปลาใช้เป็นที่หลบภัย ภาพปลาว่ายในกอดอกบัวที่ชาวจีนนิยมวาดกัน จึงมีความหมายถึงความเป็นมลคล ปลอดภัย ร่ำรวย แต่ถ้าวาดเป็นภาพเด็กชายตัวอ้วนถือดอกบัวจะหมายถึงการอวยพรให้มีลูกชายไว้สืบสกุล แต่อีกความหมายของดอกบัวมาจากคำสอนในศาสนาพุทธ ที่ว่าคนเราควรทำตัวเหมือนดอกบัว ถึงแม้จะกำเนิดจากโคลนตมแต่ก็คงคุณงามความดี จนได้เป็นดอกไม้บูชาพระพุทธองค์ ชาวจีนจึงยึดให้ดอกบัวเป็นดอกไม้แห่งความดีอีกอย่างหนึ่งด้วย




              ดอกบัวกับอินเดีย
             ตำนานของชาวอินเดียเล่ากันว่าวันหนึ่งหน้าผากของพระวิษณุ ก็มีดอกบัวผุดขึ้นมา และเมื่อบัวนั้นบานก็มีพระลักษมีเทวีประทับอยุ่ข้างใน พระลักษมีจึงมีชื่อที่แปลว่าดอกบัวหลายชื่อ เช่น ปัทมา,กมลาษณา และชาวอินเดียก็ถือว่าดอกบัวเป็นเครื่องหมายของการกำเนิดชีวิต

ข้อคิดดีๆ กับบัวสี่เหล่า



มวลบุปผาดารดาษพิลาสลักษณ์
สื่อประจักษ์ตามจิตพิสมัย
ต่างพงศ์พันธุ์ต่างพ้องล้วนต้องใจ
แทนความนัยหลายหลากจากมาลี

ธรรมชาติสร้างสรรค์พันธุ์พฤกษา
หลากผกางดงามตามวิถี
ต่างความหมายหลายค่าประดามี
สร้างรมณีย์คู่หล้าพาสราญ

เกิดแต่ตมบ่มผลจนบรรเจิด
สิ่งประเสริฐคู่ธรรมนำสถาน
ก่อเกิดบัวสี่เหล่าเล่าตำนาน
ชนกล่าวขานเปรียบบัวเหมือนตัวตน

หนึ่งคือบัวพ้นน้ำล้ำคุณค่า
สุริยาจรัสแจ้งแสดงผล
ผลิดอกบานทันทีที่แย้มยล
เปรียบดั่งคนรู้ธรรมล้ำปัญญา

คือคนที่สติปราชญ์ฉลาดเฉลียว
เพียงครู่เดียวที่น้อมธรรมนำศึกษา
ก็สามารถเข้าใจในวิชชา
เพียงเวลาผันผ่านมินานเนา


สองคือบัวปริ่มน้ำตามวิถี
ลุราตรีผ่านพ้นบนความเขลา
จึ่งผลิดอกเบ่งบานสานวัยเยาว์
ปัญญาเจ้าปานกลางหว่างบุคคล

เพียงฟังธรรมนำจิตวินิจฉัย
จะเข้าใจนัยเจตด้วยเหตุผล
รู้พิจารณาด้วยธรรมนำกมล
จะสร้างตนพ้นภัยใจตระการ

สามคือบัวใต้น้ำตามความหมาย
วันเคลื่อนคลายผ่านพ้นจนสมาน
บัวเจริญงดงามท่ามชลธาร
ชูช่อบานดั่งใจในสักวัน

เปรียบดั่งคนสัมมาปัญญาน้อย
ลบปมด้อยด้วยธรรมาพาสุขสันต์
จิตศรัทธาด้วยพากเพียรเรียนรู้ทัน
พร้อมขยันหมั่นฝึกฝนจนเข้าใจ


สี่คือบัวจมโคลนจนหม่นหมอง
หมดครรลองพบทางกระจ่างใส
ต้องจมปลักโคลนตมทับถมไป
สุดท้ายไซร้เป็นภักษาเต่าปลาปู

เปรียบดั่งคนไร้ปัญญาล้าสติ
มากมิจฉาทิฐิให้อดสู
มิรู้แจ้งศีลธรรมนำวิญญู
ขาดความรู้ร้างศรัทธานำพาใจ

บัวสี่เหล่าสี่กอที่ก่อเกิด
ต่างกำเนิดจากโคลนตมบ่มนิสัย
ต่างผลลัพธ์ต่างพงศ์จำนงนัย
มโนมัยด้วยธรรมล้ำปัญญา





ตำนานดอกกุหลาบ





              กุหลาบเป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกไว้ชื่นชมมาแต่โบราณประมาณกันว่ากุหลาบเกิดขึ้นเมื่อกว่า 70 ล้านปีมาแล้วเคยมีการค้นพบฟอสซิลของกุหลาบใน รัฐโคโลราโด และ รัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้พิสูจน์ว่ากุหลาบป่าเป็นพืชที่มีอายุถึง 40 ล้านปี แต่กุหลาบป่าสมัยโลกล้านปีนี้ มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกุหลาบสมัยนี้เนื่องจากมนุษย์ได้นำเอากุหลาบป่ามาปลูกและผสมพันธุ์ ขยายพันธุ์เป็นพันธุ์ต่างๆ มากมาย
             ความจริงแล้วกำเนิดของกุหลาบหรือกุหลาบป่านี้มีเฉพาะในแถบบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรของโลกเท่านั้นคือกำเนิดในภาคกลางของทวีปเอเชีย แล้วแพร่ขยายพันธุ์ไปตลอดซีกโลกเหนือ ไม่ว่าจะเป็นแถบที่มีอากาศหนาวจัดอย่าง อาร์กติก อลาสก้า ไซบีเรีย หรือแถบอากาศร้อนอย่าง อินเดีย แอฟริกาเหนือ แต่ในบริเวณแถบใต้เส้นศูนย์สูตรอย่างทวีปออสเตรเลีย หรือเกาะต่างๆ รวมทั้งแอฟริกาใต้ ไม่เคยปรากฏว่ามีกุหลาบป่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเลย


         
                ตามประวัติศาสตร์เล่าว่ากุหลาบป่าถูกนำมาปลูกไว้ในพระราชวังของจักรพรรด์จีน ในสมัยราชวงศ์ฮั่นราว 5,000 ปีมาแล้ว ขณะที่อียิปต์เองก็ปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอก ส่งไปขายให้แก่ชาวโรมัน ชาวโรมันเป็นชาติที่รักดอกกุหลาบมากถึงจะสั่งซื้อจากประเทศอียิปต์แล้ว ยังลงทุนสร้างเนอร์สเซอรี่ขนาดใหญ่สำหรับปลูกดอกกุหลาบอีกด้วย

  ตำนานดอกกุหลาบในไทย


                                


                     กุหลาบเข้ามาเมืองไทยสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่าได้เห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และที่แน่นอนอีกแห่งก็คือ ในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร กล่าวถึงกุหลาบไว้ว่า
                                 " กุหลาบกลิ่นเฟื่องฟุ้ง                                     เนืองนอง
                                 หอมรื่นชื่นชมสอง                                           สังวาส
                                 นึกกระทงใส่พานทอง                                      ก่ำเก้า
                                 หยิบรอจมูกเจ้า                                                บ่ายหน้าเบือนเสีย "

         อีกหนึ่งตำนาน  มัทนะพาธาเป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ที่เล่าถึงคำนานดอกกุหลาบว่า
          ในสมัยอดีตกาล จอมเทพสุเทษณ์เป็นเทพผู้ใหญ่บนสรวงสวรรค์ เป็นทุกข์อยู่ด้วยความลุ่มหลงเทพธิดามัทนา แม้จิตระรถผู้สารถีคู่บารมีจะนำรูปของเทพเทวีผู้เลอโฉมหลายต่อหลายองค์มาถวายให้เลือกชม สุเทษณ์ก็มิสนใจไยดี จิตระรถจึงนำมายาวินวิทยาธรมาเฝ้า สุเทษณ์ให้มายาวินใช้เวทมนตร์เรียกนางมัทนามาหา เมื่อมาแล้วนางมัทนาก็เหม่อลอยมิมีสติสมบูรณ์เพราะตกอยู่ในฤทธิ์มนตรา           สุเทษณ์มิต้องการได้นางด้วยวิธีเยี่ยงนั้น จึงให้มายาวินคลายมนตร์ แต่ครั้นได้สติแล้ว นางมัทนาก็ปฏิเสธว่ามิมีจิตเสน่หาตอบด้วยมิว่าสุเทษณ์จะเกี้ยวพาและรำพันรักอย่างไร  สุเทษณ์โกรธนักจึงจะสาปมัทนาให้ไปเกิดในโลกมนุษย์

       มัทนาขอให้นางได้ไปเกิดเป็นดอกไม้มีกลิ่นหอมเพื่อให้มีประโยชน์บ้าง สุเทษณ์จึงสาปมัทนาให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบที่งามทั้งกลิ่นทั้งรูป และมีแต่เฉพาะบนสวรรค์ยังไม่เคยมีบนโลกมนุษย์ โดยที่ในทุกๆ 1 เดือน นางมัทนาจะกลายร่างเป็นคนได้ชั่ว 1 วัน 1 คืน ในเฉพาะวันเพ็ญของแต่ละเดือนเท่านั้น และถ้านางมีความรักเมื่อใด นางก็จะมิต้องคืนรูปเป็นกุหลาบอีก แต่นางจะได้รับความทุกข์ทรมานเพราะความรักจนมิอาจทนอยู่ได้ และเมือนั้นถ้านางอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ตนจึงจะงดโทษทัณฑ์นี้ให้แก่นาง

     นางมัทนาไปจุติเป็น ดอกกุหลาบ (ดอกกุพชกะ) อยู่ในป่าหิมะวัน สุเทษณ์กำหนดว่า  นางจะกลายร่างจากดอกกุหลาบเป็นมนุษย์เฉพาะวันเพ็ญเพียงวันเดียวและคืนเดียวเท่านั้น  ต่อเมื่อมีความรักจึงจะพ้นสภาพจากเป็นดอกไม้  และนางจะต้องมีทุกข์เพราะความรัก  เมื่อถึงเวลานั้นให้นางวิงวอนต่อพระองค์ พระองค์จะลงมาช่วย 
            ณ ป่าหิมะวัน บรรดาศิษย์ของฤษีนามกาละทรรศินมาพบเข้า จึงนำความไปบอกพระอาจารย์ กาละทรรศินจึงให้ขุดไปปลูกในบริเวณอาศรมของตน ในขณะที่จะทำการขุดก็มีเสียงผู้หญิงร้อง กาละทรรศินเล็งญาณดูก็รู้ว่าเป็นเทพธิดามาจุติ จึงได้เอ่ยเชิญและสัญญาว่าจะคอยดูแลปกป้องสืบไป เมื่อนั้นการจึงสำเร็จด้วยดี

               วันเพ็ญในเดือนหนึ่งท้าวชัยเสนกษัตริย์แห่งหัสตินาปุระได้เสด็จออกล่าสัตว์ในป่าหิมะวันและได้แวะมาพักที่อาศรมพระฤๅษี ครั้นได้เห็นนางมัทนาในโฉมของนารีผู้งดงามก็ถึงกับตะลึงและตกหลุมรัก จนถึงกับรับสั่งให้มหาดเล็กปลูกพลับพลาพักแรมไว้ใกล้อาศรมนั้นทันที 

       ท้าวชัยเสนรำพันถึงความรักลึกซึ้งที่มีต่อนางมัทนา ครั้นเมื่อนางมัทนาออกมาที่ลานหน้าอาศรมก็มิเห็นผู้ใด ด้วยเพราะท้าวชัยเสนหลบไปแฝงอยู่หลังกอไม้ นางมัทนาได้พรรณาถึงความรักที่เกิดขึ้นในใจอย่างท่วมท้น ท้าวชัยเสนได้สดับฟังทุกถ้อยความจึงเผยตัวออกมาทั้งสองจึงกล่าวถึงความรู้สึกอันล้ำลึกในใจที่ตรงกันจนเข้าใจในรักที่มีต่อกัน จากค่ำคืนถึงยามรุ่งอรุณ ท้าวชัยเสนจึงทรงประกาศหมั้นและคำสัญญารัก ณ ริมฝั่งลำธารใกล้อาศรมนั้น

          เมื่อมีความรักแล้ว นางมัทนาก็ยังคงรูปเป็นนารีผู้งดงาม มิต้องกลายรูปเป็นกุหลาบอีก ท้าวชัยเสนได้ทูลขอนางมัทนา พระฤษีก็ยกให้โดยให้จัดพิธีบูชาทวยเทพและพิธีวิวาหมงคลในป่านั้นเสียก่อน

       ท้าวชัยเสนเสด็จกลับวังหลายเพลาแล้วแต่ก็มิได้เสด็จไปยังพระตำหนักข้างในด้วยว่ายังทรงประทับอยู่แต่ในอุทยาน พระนางจัณฑี มเหสีให้นางกำนัลมาสืบดูจนรู้ว่าพระสวามีนำสาวชาวป่ามาด้วย จึงตามมาพบท้าวชัยเสนกำลังอยู่กับนางมัทนาพอดี เมื่อพระนางจัณฑีเจรจาค่อนขอดดูหมิ่นนางมัทนา ท้าวชัยเสนก็กริ้วและทรงดุด่าว่าเป็นมเหสีผู้ริษยา

         พระนางจัณฑีแค้นใจนัก ให้คนไปทูลฟ้องพระบิดาผู้เป็นเจ้าแห่งมคธนครให้ยกทัพมาทำศึกกับท้าวชัยเสน จากนั้นก็คบคิดกับนางค่อมอราลีและวิทูรพราหมณ์หมอเสน่ห์ ทำอุบายกลั่นแกล้งนางมัทนาโดยส่งหนังสือไปทูลท้าวชัยเสนว่านางมัทนาป่วย ครั้นเมื่อท้าวชัยเสนรีบเสด็จกลับมาเยี่ยมนางมัทนา ก็กลับพบหมอพราหมณ์กำลังทำพิธีอยู่ใกล้ๆต้นกุหลาบ วิทูรกับนางเกศินีข้าหลวงของนางจัณฑีจึงทูลใส่ความว่านางมัทนาให้ทำเสน่ห์เพื่อให้ได้ร่วมชื่นชูสมสู่กับศุภางค์ ท้าวชัยเสนกริ้วนัก รับสั่งให้ศุภางค์ประหารนางมัทนาแต่ศุภางค์ไม่ยอม ท้าวชัยเสนจึงสั่งประหารทั้งคู่

         พระนางจัณฑีได้ช่องรีบเข้ามาทูลว่าตนจะอาสาออกไปห้ามศึกพระบิดาซึ่งคงเข้าใจผิดว่านางกับท้าวชัยเสนนั้นบาดหมางกัน แต่ท้าวชัยเสนตรัสว่าทรงรู้ทันอุบายของนางที่คิดก่อศึกแล้วจะห้ามศึกเอง พระองค์จะขอออกทำศึกอีกคราแล้วตัดหัวกษัตริย์มคธพ่อตาเอามาให้นางผู้ขบถต่อสวามีตนเอง 

        ขณะตั้งค่ายรบอยู่ที่นอกเมือง วิทูรพรหมณ์เฒ่าได้มาขอเข้าเฝ้าท้าวชัยเสน เพื่อสารภาพความทั้งปวงว่าพระนางจัณฑีเป็นผู้วางแผนการร้าย ซึ่งในที่สุดแล้วตนสำนึกผิดและละอายต่อบาปที่เป้นเหตุให้คนบริสุทธิ์ต้องได้รับโทษประหาร ท้าวชัยเสนทราบความจริงแล้วคั่งแค้นจนดำริจะแทงตนเองให้ตาย แต่อำมาตย์นันทิวรรธนะเข้าห้ามไว้ทันและสารภาพว่าในคืนเกิดเหตุนั้นตนละเมิดคำสั่ง มิได้ประหารศุภางค์และนางมัทนา หากแต่ได้ปล่อยเข้าป่าไป ซึ่งนางมัทนานั้นได้โสมะทัตศิษญ์เอกของฤษีกาละทรรศินนำพากลับสู่อาศรมเดิม แต่ศุภางค์นั้นแฝงกลับเข้าไปร่วมกับกองทัพแล้วออกต่อสู้กับข้าสึกจนตัวตาย ท้าวชัยเสนจึงรับสั่งให้ประหารท้าวมคธที่ถูกจับมาเป็นเชลยไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ส่วนพระนางจัณฑีมเหสีนั้นทรงให้เนรเทศออกนอกพระนคร ด้วยทรงเห็นว่าอันนารีผู้มีใจมุ่งร้ายต่อผู้เป็นสามีก็คงต้องแพ้ภัยตนเอง มิอาจอยู่เป็นสุขได้นานแน่

              ฝ่ายนางมัทนานั้นได้ทำพิธีบูชาเทพและวอนขอร้องให้สุเทษณ์จอมเทพช่วยนางด้วย สุเทษณ์นั้นก็ยินดีจะแก้คำสาปและรับนางเป็นมเหสี แต่นางมัทนาก็ยังคงปฏิเสธและว่าอันนารีจะมีสองสามีได้อย่างไร สุเทษณ์เห็นว่านางมัทนายังคงปฏิเสธความรักของตนจึงกริ้วนักสาปส่งให้นางมัทนาเป็นดอกกุหลาบไปตลอดกาล มิอาจกลายร่างเป็นมนุษย์ได้อีกต่อไป

          เมื่อท้าวชัยเสนตามมาถึงในป่า นางปริยัมวะทาที่ตามมาปรนนิบัติดูแลนางมัทนาด้วยก็ทูลเล่าความทั้งสิ้นให้ทรงทราบ ท้าวชัยเสนจึงร้องร่ำให้ด้วยความอาลัยรักแล้วขอให้พระฤษีช่วย โดยใช้มนตราและกล่าวเชิญนางมัทนาให้ยินยอมกลับเข้าไปยังเวียงวังกับตนอีกครา 

          เมื่อพระฤษีทำพิธีแล้ว ท้าวชัยเสนก็รำพันถึงความหลงผิดและความรักที่มีต่อนางมัทนาให้ต้นกุหลาบได้รับรู้ จากนั้นจึงสามารถขุดต้นกุหลาบได้สำเร็จ ท้าวชัยเสนได้นำต้นกุหลาบขึ้นวอทองเพื่อนำกลับไปปลูกในอุทยาน และขอให้ฤๅษีกาละทรรศินให้พรวิเศษว่ากุหลาบจะยังคงงดงามมิโรยราตราบจนกว่าตัวพระองค์เองจะสิ้นอายุขัย พระฤษีก็อวยพรให้ดังใจ และประสิทธิประสาทพรให้กุหลาบนั้นดำรงอยู่คู่โลกนี้มิมีสูญพันธ์ อีกทั้งยังเป็นไม้ดอกที่กลิ่นอันหอมหวานสามารถช่วยดับทุกข์ในใจคนและดลบันดาลให้จิตใจเบิกบานเป็นสุขได้ ชาย-หญิง เมื่อมีรักก็จักใช้ดอกกุหลาบเป็นสัญญลักษณ์แห่งความรักแท้สืบต่อไป                                                       

 คำประพันธ์อันคุ้นหู

ตำนานดอกกุหลาบในต่างประเทศ

กุหลาบเกิดจากการชุมนุมของบรรดาทวยเทพ เพื่อประทานชีวิตใหม่ให้กับนางกินรีนางหนึ่ง ซึ่งเทพธิดาแห่งบุปผาชาติ หรือ คลอริส บังเอิญไปพบนางนอนสิ้นชีพอยู่   ในตำนานนี้กล่าวว่า อโฟรไดท์ เป็นเทพผู้ประทานความงามให้ มีเทพอีกสามองค์ประทานความสดใส เสน่ห์ และความน่าอภิรมย์ และมีเซไฟรัส ซึ่งเป็นลมตะวันตกได้ช่วยพัดกลุ่มเมฆ เพื่อเปิดฟ้าให้กับแสงของเทพอพอลโล หรือแสงอาทิตย์ส่องลงมาเพื่อประทานพรอมตะ จากนั้น ไดโอนีเซียส เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นก็ประทานน้ำอมฤต และกลิ่นหอม เมื่อสร้างบุปผาชาติดอกใหม่ขึ้นมาได้แล้ว เทพทั้งหลายก็เรียกดอกไม้ซึ่งมีกลิ่นหอมและทรงเสน่ห์นี้ว่า Rosa

     จากนั้น เทพธิดาคลอริส ก็รวบรวมหยดน้ำค้างมาประดับเป็นมงกุฎ เพื่อมอบให้ดอกไม้นี้เป็นราชินีแห่งบุปผาชาติทั้งมวล จากนั้นก็ประทานดอกกุหลาบให้กับเทพอีโรส ซึ่งเป็นเทพแห่งความรัก กุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรัก แล้วเทพ อีโรส ก็ประทานกุหลาบ นี้ให้แก่ ฮาร์โพเครติส ซึ่งเป็นเทพแห่งความเงียบ เพื่อที่จะเก็บซ่อนความอ่อนแอของทวยเทพทั้งหลาย ดอกกุหลาบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเงียบและความเร้นลับอีกอย่างหนึ่ง 
              กุหลาบกลายเป็นของขวัญ ของกำนัลสำหรับการแสดงความรัก และมักจะมีผู้เปรียบเทียบความงามของผู้หญิงเป็นเสมือนดอกกุหลาบ และผู้หญิงคนแรกสมญาว่าเป็นผู้หญิงงามเสมือนดอกกุหลาบคือ พระนางคลีโอพัตรา ซึ่งพระนางยังได้เคยต้อนรับ มาร์ค แอนโทนี คนรักของพระนาง ในห้องซึ่งโรยด้วยดอกกุหลาบหนาถึง 18 นิ้ว หอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นกุหลาบ




: ) อันนี้แถมค่ะ เพื่อนๆเคยเห็นกันหรือยังค่ะ 




มัทนะพาธาเป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ที่เล่าถึงตำนานดอกกุหลาบว่า
             กุหลาบสายพันธุ์แบล็กโรส หรือ กุหลาบดำที่โครงการหลวงใช้เวลาในการขยายพันธุ์กว่า 10 ปีจึงสำเร็จ มีความโดดเด่นเรื่องสี
สายพันธุ์แบล็กโรส หรือกุหลาบดำ ซึ่งเป็นกลุ่มกุหลาบสีดำ มี 4 ชนิด คือ แบล็กบัคคาร่า ขนาดดอก 2-3 นิ้ว แบล็กเมจิก ขนาดดอก 4-6 นิ้ว แบล็กบิวตี้ ขนาดดอก 4-6 นิ้ว บัคคาโร ขนาดดอก 3-4 นิ้ว ปัจจุบันมีปลูกอยู่ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และโครงการหลวงทุ่งเริง ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เหมาะสมกับการปลูกกุหลาบพันธุ์นี้ รวมทั้งผ่านการพัฒนาสายพันธุ์มาประมาณ 15 ปี จึงได้สายพันธุ์อย่างที่ต้องการเหมาะสมกับสภาพอากาศภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม กุหลาบสายพันธุ์นี้เป็นกุหลาบสีแปลก และมีความพิเศษไม่เหมือนดอกกุหลาบชนิดอื่น ทว่าไม่เป็นที่นิยมเหมือนกุหลาบสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีสีสันสวยงามในท้องตลาดทั่วไป
            สำหรับความเป็นมาของดอกกุหลาบ สีดำที่นำมาขยายพันธุ์ที่โครงการหลวงขณะนี้ นำเข้ามาจากประเทศเยอรมัน โดยคุณสืบศักดิ์ นวจินดา ผอ.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งได้เดินทางไปดูงานที่ประเทศเยอรมนี แล้วพบว่ามีกุหลาบสายพันธุ์แบล็กโรส หรือกุหลาบดำ มีสีสันสะดุดตา ตามปกติแล้ว กุหลาบส่วนใหญ่จะมีสีแดงเป็นหลัก แต่กุหลาบพันธุ์ดังกล่าว มีลักษณะสีแดงเข้มมากเหมือนสีเลือดหมูจนเกือบดำเหมือนกำมะหยี่ ดอกเมื่อบานเต็มที่มีขนาดใหญ่ จึงนำกุหลาบพันธุ์ดังกล่าวมาปลูกครั้งแรกที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ระยะแรกประสบปัญหากุหลาบมีกิ่งใหญ่ แต่ดอกเล็กเนื่องจากขาดการบำรุงที่ต้องใช้ปุ๋ยสูตรเฉพาะ ที่มีไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแตสเซียมผสมผสานกัน ต้องใช้เวลาหลายปีจึงสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้เข้ากับภูมิอากาศบ้านเราจนให้ผลผลิตมีดอกใหญ่เหมือนดินแดนต้นกำเนิดคือประเทศเยอรมนีไม่ผิดเพี้ยน
***ดอกกุหลาบสีดำนำเข้ามาจำหน่ายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกโดยมิสลิลลี่ ซึ่งมาจากประเทศฮอลแลนด์ โดยนำเข้ามาประมาณ 300 ดอก จำหน่ายดอกละ 600 บาท***