วันเสาร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555


ตำนานดอกแพนซี่ …. ดอกแห่งความคิดรำพันถึงความรัก

                ดอกแพนซี่ (Pansy) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Viola cornuta อยู่ในตระกูลเดียวกับดอกไวโอเล็ต ชื่อดอกแพนซี่มาจากคำว่า Pensee (ป็อง-เซ่) ซึ่งเป็นชื่อเรียกดอกไม้ชนิดนี้ในภาษาฝรั่งเศส คำว่า pensee แปลว่า การคิดคำนึง หรือ ความคิด มีผู้สันนิษฐานว่าชื่อนี้มาจากรูปลักษณะของดอกไม้ที่ดูเหมือนหน้าคนที่กำลังครุ่นคิด
"แพนซี่" หลากสีหลายชนิด ซึ่งแพนซี่แต่ละสีแต่ละแบบ ก็มีชื่อเฉพาะของตนเอง เช่น สีม่วงและคราม ชื่อว่า 'Blue & Purple Rain' Viola, สีเหลืองไส้ตรงกลาง (เขาเรียกว่า 'ตา') ออกม่วงเข้ม ชื่อว่า 'Fizzy Lemonberry', สีเหลืองทั้งดอก ชื่อว่า'Karma Yellow', สีม่วงอ่อน 'ตา' ม่วงแก่ ชื่อว่า 'Maxim Marina', สีส้มทั้งดอก ชื่อว่า 'Padpardja', สีขาวประกายเงินเหลือบม่วงอ่อน ชื่อว่า 'Baby Blue', สีม่วง 'ตา' เหลือง ชื่อว่า 'Lemon and Plum Picotee'
                แพนซี่เป็นไม้ดอกโบราณของอังกฤษ เริ่มปลูกกันมาตั้งแต่ยุค 1830s ลักษณะเด่นของดอกไม้ชนิดนี้คือ เป็นดอกไม้ที่มี "หน้า" ซึ่งก็คือรูปดอกของแพนซี่นั่นเอง แถมยังมีสีสันสวยงามมากมาย ชื่อของดอกแพนซี่ มีที่มาจากคำในภาษาฝรั่งเศสว่าpensée แปลว่า "นึก, คิด" (thought) ว่ากันว่า รูปดอกหรือ "หน้า" ของดอกแพนซี่ พิศดูดีๆ ละม้ายกับใบหน้าคนกำลังใช้ความคิดอยู่ (คนเสนอความคิดนี้ คงเป็นคนช่างจินตนาการไม่น้อย) ... นอกจากนี้ ความสวยงามน่ารักของดอกแพนซี่ ยังทำให้เกิดความสุขใจ และเป็นสัญลักษณ์ของความรื่นเริงใจอีกด้วย...
                แพนซี่เป็นดอกไม้ในตระกูล "ไวโอลา" (viola) เช่นเดียวกับไวโอเล็ต ไวโอลาเป็นตระกูลดอกไม้ที่ใหญ่โตมาก มีดอกไม้ในวงศ์วานกว่า 500 ชนิด แต่ "แพนซี่" เป็นดอกไม้ที่ใครๆ มักจะเอ็นดูด้วยหน้าตาของมันนั่นเอง ... 
                ดอกแพนซี่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ และรับประทานได้ จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะปลูกไว้ในสวน ทั้งดอกและใบแพนซี่ อุดมไปด้วยวิตามินเอ และ ซี ดอกแพนซี่สามารถนำไปทำเป็นน้ำเชื่อมก็ได้ เสริมรสชาติให้น้ำผึ้ง โรยหน้าสลัดก็ดี ทั้งใบและดอกแพนซี่ นำไปตกแต่งหน้าสลัดผลไม้ หรือครีมซุปก็เข้าท่า บางตำราก็นำดอกแพนซี่ไปเป็นสีธรรมชาติสำหรับย้อมผ้าอีกด้วย .. 
                ดอกของแพนซี่เป็นดอกเดี่ยว มีกลีบดอกห้ากลีบกลมมน รูปแบบของสีดอกแพนซี่มีถึงสามแบบ แบบแรกคือ กลีบดอกสีเดียวทั้งดอก สีสดเจิดจ้าสวยสดน่ามอง เช่น สีเหลือง สีน้ำเงิน แบบที่สองคือ กลีบดอกสีเดียว แต่มีเส้นสีดำบางๆ แผ่รัศมีออกมาจากใจกลางดอก เส้นเหล่านี้เรียกว่า "รอยดินสอ" (Penciling) ซึ่งมีเหมือนกับเส้นใน "ไวโอลา" นั่นเอง แบบที่สาม ซึ่งน่าจะเป็นที่คุ้นตากันมากที่สุด คือกลีบดอกเป็นสีอะไรก็ได้ แต่ใจกลางดอกจะเป็นสีเข้ม ที่เรียกกันว่า "หน้า" ("face")
                แพนซี่บางชนิดมีกลิ่นหอมอ่อนจางคล้ายน้ำหอมบางชนิด เมื่อได้กลิ่นหอมนี้แล้วจะจรุงใจจนเป็นที่จดจำได้นาน มักจะได้กลิ่นหอมในช่วงเช้าตรู่หรือย่ำค่ำ แพนซี่ที่มีกลิ่นหอมมาก คือสีเหลืองและสีน้ำเงิน ...
                แพนซี่ ... ดอกไม้ดอกน้อยๆ ที่กลีบนุ่มเนียนดั่งกำมะหยี่ที่คนอังกฤษมักจะชอบปลูกกันตามริมทางเดินในสวน มีมาตั้งแต่สมัยวิคตอเรียน โดยมีที่มาจาก "แพนซี่ป่า" (Wild Pansy) ที่เชคสเปียร์กล่าวถึงในบทกวีว่า "Love-in-idleness" ดอกไม้ที่น่ารักนี้ มีรูปร่างหน้าตาเหมือนมี "หน้ายิ้ม" และยังร่ำลือกันมาแต่โบราณว่าเป็น "ยาเสน่ห์" (Love potion) อันเป็นที่มาของการที่ตัวละครชื่อTitania ตกหลุมรักกับลาใน A Midsummer Night's Dream
                แพนซี่ป่าเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนและเด็กๆ ในชนบทอังกฤษมาตั้งแต่ครั้งกระโน้น เรียกขานกันด้วยชื่อหลายชื่อ เช่น Two-faces-under-the-sun, Face-and-hood และ Tickle-my-fancy. ยังเรียกกันว่า Herb Trinity ด้วย เพราะความที่ดอกแพนซี่มักจะมีสามสีในดอกเดียวนั่นเอง แต่ในบรรดาชื่อที่เรียกขานกันทั้งหมด ชื่ออันเป็นที่รู้จักมากที่สุด (ของคนอังกฤษสมัยก่อน) คือ'Heart's-ease', for it was believed that by carrying the flower about with you, you would ensure the love of your sweetheart. "ดอกไม้สบายใจ" เพราะเชื่อกันว่า เมื่อมีดอกแพนซี่ติดตัวไปไหนๆ ก็จะสุขใจว่ามีหัวใจรักของคนที่รักคุณอยู่ใกล้ๆ เสมอ

                หลายคนนำความหมายของคำนี้มาโยงเข้ากับเรื่องของความรัก ทำให้เป็นที่เข้าใจกันว่าชื่อดอก pensee หรือ แพนซี่นี้หมายถึง ความคิดคนึงเกี่ยวกับความรัก ในอดีตดอกแพนซี่จึงมีความสำคัญในวันวาเลนไทน์เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความรัก คู่รักนิยมมอบดอกแพนซี่ให้กันในวันนี้เพื่อบอกความในใจ
                นอกจากนี้ ในสมัยโบราณยังมีการใช้แพนซี่เป็นส่วนผสมของยาเสน่ห์เพราะเชื่อกันว่าแพนซี่มีคุณสมบัติพิเศษในการกระตุ้นความรักความเสน่หา บางคนเชื่อว่ากลีบที่เป็นรูปหัวใจของดอกแพนซี่สามารถเยียวยาอาการอกหักหัวใจสลายได้อีกด้วย
                ในเรื่อง A Midsummer Night's Dream (ฝันกลางฤดูร้อน) ของ William Shakespeare ก็ได้กล่าวถึงพลังวิเศษเกี่ยวกับความรักของดอกแพนซี่ไว้ว่า หากน้ำจากดอกแพนซี่หยดลงบนดวงตาที่หลับสนิทของผู้ใดก็ตาม จะทำให้คนผู้นั้นเมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาต้องตกหลุมรักบุคคลแรกที่เขาเห็นอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

มีตำนานและนิทานหลายเรื่องที่กล่าวถึงดอกแพนซี่ไว้ เรื่องหนึ่งเล่าว่าแต่เดิมดอกแพนซี่มีสีขาวบริสุทธิ์ แต่ต่อมาโดนลูกศรของคิวปิด (Cupid) เข้าก็เลยกลายเป็นสีม่วง
              อีกเรื่องหนึ่งมาจากตำนานกรีกเป็นเรื่องของเจ้าชายแอตทิส (Attis) แห่งฟรีเจีย (Phrygia) เทพีไซบีลีหรือซิบิลี (Cybele) หลงรักเจ้าชายหนุ่มผู้นี้อย่างหัวปักหัวปำ แต่ทว่าแอตทิสกลับไปมีใจให้หญิงอื่น (บางที่ก็ว่านางชื่อ Atta บางที่ก็ว่าเป็นนางพรายน้ำชื่อ Sagaritis) ด้วยความริษยาและพิโรธอย่างที่สุด พระนางจึงลงทัณฑ์แอตทิสให้เสียสติและปลิดชีพเขาในที่สุด บางที่เล่าว่าแอตทิสถูกทำให้เป็นบ้าจนถึงกับตอนตัวเองและฆ่าตัวตาย ดอกแพนซี่เกิดมาจากเลือดของเขาที่หลั่งลงดิน 
              นิทานอีกเรื่องหนึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านของเยอรมัน เล่าว่า เมื่อครั้งอดีตกาล ดอกแพนซี่เคยมีกลิ่นหอมจรุงใจโชยไปไกลจนทำให้ผู้คนทั้งหลายต่างพากันเดินทางจากต่างบ้านต่างเมืองเพื่อมาเชยชมและสัมผัสกลิ่นหอมนี้อย่างใกล้ชิด แต่การที่ผู้คนจำนวนมากมุ่งมายังที่แห่งนี้ ทำให้ต้นหญ้าและพืชพรรณที่อยู่ข้างเคียงโดนเหยียบย่ำแหลกลาญ วัว แพะ แกะ ทั้งหลายเริ่มไม่มีหญ้าจะกิน ดอกแพนซี่รู้สึกเสียใจจึงอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า พระเจ้าจึงทรงเสกให้กลิ่นหอมจัดของดอกแพนซี่หายไป แต่ได้ประทานความงดงามมาให้แทน เป็นดอกแพนซี่ที่เราเห็นอยู่อย่างทุกวันนี้..




ตำนานชัยพฤกษ์หรือ Daphne



                Daphne (แดฟเน่) เป็นนางไม้ที่งดงาม นางเป็นลูกสาวของพีนัส เทพแห่งแม่น้ำ แดฟเน่ เป็นนักล่าสัตว์ที่อุทิศตัวเองให้แก่ .. เทพอาร์ทีมิส เทวีแห่งการล่า ... และเหมือนกับเทวีทั่วไป ที่มักมีจิตใจไม่พึงประสงค์ ต่อการแต่งงานเช่นมนุษย์ทั่วไป แดฟเน่ มีชายหนุ่มมาหลงรักนางมากมาย รวมทั้งเทพอพอลโล ตกหลุมรักแดฟเน่ เป็นอย่างมาก และ เมื่อถูกแดฟเน่ปฎิเสธความรักของเขา เทพอพอลโล ก็โกรธแค้น และ ไล่ล่านาง แดฟเน่ได้หนีเข้าไปในป่า ด้วยความหวาดกลัว และ สวดอ้อนวอนให้เทพพีนัส ซึ่งเป็นบิดาช่วยนางให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของ เทพอพอลโล เทพพีนัส ได้บอกให้นางปกป้องตนเอง ด้วยการแปลงร่างเป็นต้นไม้ชื่อว่า ...Laurel หรือ Daphne... (แดฟเน่ เป็นชื่อพื้นเมืองกรีก) 


                เมื่ออพอลโลไล่ตามมา ไม่เห็นแดฟเน่ จึงได้ข่มขู่เทพพีนัสให้บอกว่า นางอยู่ที่ไหน ด้วยความกลัวเทพพีนัส จึงบอกแก่เทพอพอลโลว่า แดฟเน่ ได้แปลงร่างเป็นต้น Laurel และด้วยความรักที่มีต่อแดฟเน่ นี่เองทำให้ เทพอพอลโล เสียใจมาก จึงตัดก้านของต้น Laurel ออกมาทำเป็นพวงมาลัย เพื่อรำลึกถึงความงาม และ ความรักที่มีต่อนาง จากตำนานเทพนิยายกรีก นี้ถือว่า ... เทพอพอลโลได้ทำให้ Laurel เป็นต้นไม้สำหรับการสักการะ พวงมาลัยดอก Laurel ซึ่งเรียกว่า Daphneในกรีก เป็นพวงมาลัยสำหรับแชมป์ หรือ ผู้ครองความเป็นเลิศ ในกีฬาแต่ละประเภท ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ...ประเพณีของกีฬา ในโอลิมปิกเกมส์นั้น ผู้ชนะจะสวมมงกุฏดอก Daphne ซึ่งเป็น สัญลักษณ์แห่งชัยชนะ


ที่มา : http://www.mythland.org/v2/viewthread.php?action=printable&tid=836
 ตำนานดอก Perce – neige ความหวังสีขาวบริสุทธิ์


                Perce – neige หรือ Snowdrop เป็นไม้หัว มีดอกสีขาวบริสุทธิ์ซึ่งจะบานในปลายฤดูหนาว Perce – neige เป็นดอกไม้สีขาวดอกเล็กๆ น่ารักได้ชื่อว่าเป็นดอกไม้ที่บานเป็นชนิดแรกของฤดูใบไม้ผลิมีกลีบนอกเรียวยาวสามกลีบสีขาวสะอาดตา และกลีบเล็กๆข้างในอีกสามกลีบซึ่งจะแต้มด้วยสีเขียวเป็นรูปหัวใจคว่ำ ที่ตรงปลาย ดูเผินๆจะเหมือนต้นหญ้ายาวที่มีใบแข็ง เนื่องจากSnowdrop มีความสูงประมาณหกนิ้วและในSnowdrop หนึ่งต้น จะมีเพียงหนึ่งดอกเท่านั้น
                   ชื่อภาษาละตินคือ Galanthus nivalis 
                  ในภาษาฝรั่งเศส คำว่า perce แปลว่า เจาะทะลุ neige แปลว่า หิมะ
                ต้นไม้ชนิดนี้ได้ชื่อว่า Perce – neige ก็เพราะว่ามันจะแทงยอดและออกดอกโผล่พ้นผืนดินที่ปกคลุมด้วยหิมะซึ่งกำลังละลาย เป็นการส่งสัญญาณว่าฤดูหนาวกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว และอีกไม่นานฤดูใบไม้ผลิก็จะมาเยือน


                มีตำนานและเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับดอกไม้สีขาวน่ารักชนิดนี้อยู่หลายเรื่อง
                เรื่องแรกกล่าวถึงกำเนิดของ Perce – neige เอาไว้ว่า ในกาลดึกดำบรรพ์ เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิต้องต่อสู้กับแม่มดแห่งฤดูหนาวซึ่งไม่ยอมให้เปลี่ยนฤดูกาล เทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิได้รับบาดเจ็บที่นิ้วมือ โลหิตที่หลั่งลงบนหิมะ(ซึ่งเป็นตัวแทนของฤดูหนาว)ทำให้หิมะละลาย ทันใดนั้นก็เกิดดอกไม้สีขาวผุดขึ้นมาแทนที่ นางแม่มดพ่ายแพ้และฤดูหนาวก็สิ้นสุดลง
                เรื่องที่สอง เป็นตำนานที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในคริสตศาสนา ว่ากันว่าหลังจากที่อดัมกับอีฟถูกขับลงมาจากสวรรค์แล้ว อีฟก็สิ้นหวังหมดอาลัยตายอยากในชีวิตและรู้สึกว่าฤดูหนาวยาวนานไม่มีวันสิ้นสุด (ฤดูหนาวเป็นสัญลักษณ์ของการหยุดนิ่งของชีวิตและสรรพสิ่ง) ทันใดนั้น เทวาองค์หนึ่งก็ปรากฏต่อหน้าเธอและได้เสกให้หิมะบางส่วนกลายเป็นดอกไม้สีขาว เพื่อบอกให้รู้ว่าวันหนึ่งฤดูหนาวต้องสิ้นสุดลง และฤดูใบไม้ผลิก็จะมาแทนที่ สรรพชีวิตจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ดอก Perce – neige จึงเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง
           เรื่องสุดท้ายเล่าว่าเมื่อพระเจ้าสร้างหิมะขึ้นมานั้น พระองค์ได้มีบัญชาให้หิมะไปหาสีของตนมาหนึ่งสี หิมะจึงไปขอใช้สีเขียวจากต้นหญ้า แต่ต้นหญ้าปฏิเสธ หิมะจึงดั้นด้นไปหาดอกกุหลาบเพื่อขอให้เธอแบ่งปันสีสันสวยงามของเธอให้บ้าง แต่กุหลาบก็ไม่ยอมให้ เมื่อหิมะไปขอความช่วยเหลือจากดอกไวโอเล็ตและดอกทานตะวัน เธอก็ได้รับคำตอบปฏิเสธเช่นเดียวกัน หิมะทั้งน้อยใจและเสียใจมาก เธอรำพันกับดอก Perce – neige ว่า ไม่มีใครยอมแบ่งปันสีให้ฉันเลย ดอกไม้ทุกชนิดปฏิเสธฉันหมดเมื่อได้ยินเช่นนั้น ดอก Perce – neige ก็รู้สึกสงสารหิมะขึ้นมาจับใจ เธอจึงบอกว่า ถ้าเธอไม่รังเกียจสีของฉัน ฉันยินดีจะแบ่งสีของฉันให้เธอใช้ด้วยนะตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา หิมะก็มีสีขาวเหมือนกับดอก Perce – neige และเพื่อแสดงความขอบคุณต่อดอก Perce – neige หิมะจึงให้ดอก Perce – neige เป็นดอกไม้ชนิดแรกที่โผล่พ้นหิมะขึ้นมาเมื่อใกล้ถึงฤดูใบไม้ผลิ

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555


ตำนานดอกหอมหมื่นลี้มาลีแห่งดวงจันทร์ 


ดอกหอมหมื่นลี้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองกุ้ยหลินในประเทศจีน ซึ่งเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องทัศนียภาพอันงดงามด้วยทะเลสาบและไร่ดอกหอมหมื่นลี้ที่ปลูกกันเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ชื่อ กุ้ยหลินแปลว่า ป่าหอมหมื่นลี้สันนิษฐานว่าดอกหอมหมื่นลี้นี้มีมาราว 10,000 ปีแล้ว เพราะมีการค้นพบละอองเกสรดอกหอมหมื่นลี้ในซากถ้ำยุคหินใหม่ทางใต้ของเมืองกุ้ยหลิน
ชาวจีนเรียกดอกหอมหมื่นลี้ว่า กุ้ยฮวาแปลว่า ดอกอบเชย
หนังสือ มิ่งไม้มาลีจีนของอีนเติงกั๋ว ซึ่งคุณพรพรรณ จันทโรนานนท์ แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย ได้จำแนกสีและลักษณะของดอกหอมหมื่นลี้ พร้อมทั้งชื่อเรียกในภาษาจีนไว้ดังนี้


ชนิดดอกสีขาว มีดอกเล็กและกลิ่นหอมอ่อนๆ เรียกว่า อิ๋นมู่ซีหรือ อิ๋นกุ้ยแปลว่า กุ้ยฮวาสีเงิน
ชนิดดอกสีเหลือง มีดอกใหญ่กว่าและกลิ่นหอมแรง เรียกว่า จินมู่ซีหรือ จินกุ้ยแปลว่า กุ้ยฮวาสีทอง
ชนิดดอกสีแดง มีกลิ่นหอมขจรขจายไปไกลที่สุดในบรรดากุ้ยฮวาทั้ง 3 สี เรียกว่า ตันกุ้ยแปลว่า กุ้ยฮวาสีแดง
หอมหมื่นลี้ถือเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิในตำนานของลัทธิเต๋าและพุทธศาสนานิกายมหายาน ชาวจีนและญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นหอมหมื่นลี้ในวัด เชื่อกันว่าการคุกเข่าลงเบื้องหน้าต้นหอมหมื่นลี้เพื่อสูดดมกลิ่นหอมหวานเปรียบได้กับการน้อมคารวะสิ่งศักดิ์สิทธิ ในฤดูใบไม้ร่วงซึ่งหอมหมื่นลี้หลายพันธุ์ในประเทศจีนแย้มกลีบบานสะพรั่ง ก็จะมีการจัดงานเทศกาลชมดอกหอมหมื่นลี้ซึ่งเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก สถานที่สำคัญในนครเซี่ยงไฮ้อย่างสวนกุ้ยหลินหรือสวนพฤกษศาสตร์แห่งเซี่ยงไฮ้ล้วนเป็นแหล่งรองรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาชมความงามของดอกหอมหมื่นลี้และอธิษฐานขอพรจากเทวีแห่งดวงจันทร์ให้ชีวิตประสบแต่ความสุข
ตำนาน เล่าว่า เทวีแห่งดวงจันทร์เดิมเป็นเทพธิดานามว่า ฉังเอ๋อ สามีของนางเป็นนักแม่นธนูแห่งสรวงสวรรค์นาม โฮ่วอี้ ในช่วงปฐมกาลของโลก โอรส 10 องค์ของเง็กเซียนฮ่องเต้ ประมุขแห่งสรวงสวรรค์ ได้ส่องแสงสว่างมายังโลก ทว่าการที่โอรสทั้ง 10 หรือพระอาทิตย์ทั้ง 10 ดวงต่างสาดแสงแรงกล้ามายังโลกพร้อมกัน ทำให้โลกร้อนระอุและเกิดความแห้งแล้งอดอยาก โฮ่วอี้ได้ยินเสียงอธิษฐานวิงวอนของมนุษย์ที่เดือดร้อนแสนสาหัส จึงห้ามมิให้ดวงอาทิตย์ทั้ง 10 ขึ้นสู่ท้องฟ้าพร้อมกัน ทว่าทั้งหมดไม่ยินยอม โฮ่วอี้จึงเล็งศรยิงดวงอาทิตย์ 9 ดวงตกลงไป เหลือเพียงดวงเดียวที่ส่องแสงมายังพื้นพิภพ ทำให้โลกกลับเข้าสู่ความสงบสุขอีกครั้ง
เง็กเซียนฮ่องเต้ทราบความดังนั้นก็พิโรธนัก ทรงตรัสแก่โฮ่วอี้ว่า “เจ้ารักใคร่โลกมนุษย์มากเสียจนกล้าทำลายแสงสว่างแห่งสวรรค์เชียวหรือ ถ้าเช่นนั้น เจ้าจะถูกเนรเทศจากสวรรค์และไปอยู่กับมนุษย์ผู้ไร้ความเป็นอมตะเหล่านั้นเสียเถิดโฮ่วอี้จึงจุติลงมาเกิดเป็นจักรพรรดิสวนจงแห่งราชวงศ์ถัง ได้ปกครองบ้านเมืองอย่างสงบสุขสืบมา ทว่าเทพธิดาฉังเอ๋อซึ่งมาเกิดเป็นมเหสีของพระองค์นั้นกลับเฝ้าคิดถึงแต่ชีวิตอมตะบนสวรรค์  มิได้สนใจพระสวามี นางมักรอจนพระจักรพรรดิบรรทม จึงแอบมาอธิษฐานรำพึงรำพันต่อพระจันทร์เต็มดวงว่า สามีของเราถูกเนรเทศจากสวรรค์ แต่เหตุใดเราจึงต้องมาทนทุกข์ยากร่วมกับเขา เราปรารถนาแต่ความอ่อนเยาว์ตลอดกาลและชีวิตอันแสนสุขบนสรวงสวรรค์ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยสวนอันสวยงามเมื่อโฮ่วอี้จับได้ว่าพระมเหสีมิได้ซื่อสัตย์ต่อพระองค์เช่นนั้นก็พิโรธมาก ด้วยความโกรธแค้น โฮ่วอี้กลายเป็นจักรพรรดิที่โหดร้ายขึ้นทุกวัน จนบ้านเมืองเกิดการกบฏวุ่นวาย       
คืนหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง โฮ่วอี้และมเหสีนั่งชมความงามของพระจันทร์ในสวน มีพระในลัทธิเต๋ารูปหนึ่งขอเข้าเฝ้าและถวายเหล้าไวน์ที่ทำจากดอกหอมหมื่นลี้ พระรูปนั้นแกะห่อกระดาษที่นำมาด้วย และโรยผงที่มีประกายระยิบระยับลงไปในถ้วยไวน์ พลางทูลพระจักรพรรดิว่า “ยานี้จะทำให้พระองค์กลับเป็นอมตะอีกครั้งโฮ่วอี้ได้ฟังดังนั้น ก็คิดในใจว่า เวลานี้ประชาชนเป็นกบฏต่อเรา ชะรอยพระรูปนี้จะคิดวางยาพิษเรา อย่ากระนั้นเลย เราจะให้ภรรยาของเราลองดื่มยานี้ก่อนพระองค์จึงตรัสแก่มเหสีว่า ในเมื่อเจ้าปรารถนาความเป็นอมตะ ก็จงดื่มก่อนเถิด”                                                 
ฝ่ายพระมเหสีเมื่อรับถ้วยไวน์จากพระสวามีก็คิดว่า “สามีของเรากลายเป็นทรราชไปเสียแล้ว หากทำให้เขากลายเป็นอมตะ ก็จะเป็นภัยต่อโลกยิ่งนักเมื่อคิดได้ดังนั้นพระนางจึงดื่มยาเข้าไปทั้งหมด พระจักรพรรดิเห็นดังนั้นก็กริ้วมาก ทรงชักดาบขึ้นหมายจะตัดเศียรพระมเหสี ทว่าพลังของยานั้นทำให้พระนางสามารถเหาะหนีไปโดยหมายจะกลับสวรรค์ แต่พลังก็หมดลงทันทีที่เสด็จถึงดวงจันทร์ ที่นั่นพระนางพบทางเข้าพระราชวังอันกว้างใหญ่ และต้นหอมหมื่นลี้ขนาดยักษ์ซึ่งข้างใต้มีกระต่ายหยกกำลังตำสมุนไพรเพื่อปรุงยาอายุวัฒนะ พระนางได้พบทุกสิ่งที่เคยฝันถึง แต่ไม่นานก็พบว่าไม่มีใครอื่นอยู่เลยนอกจากกระต่ายตัวนั้น จึงรู้สึกโศกเศร้าเสียใจในความผิดที่ได้ทรยศต่อสามี จนต้องใช้ชีวิตที่เหลือเพียงลำพัง                                                                                             
ชาวจีนบางคนเชื่อว่า เทพธิดาฉังเอ๋อเป็นพระโพธิสัตว์ที่เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ในเวลาเดียวกับที่ทรงบรรลุธรรม เพราะเป็นเวลาที่พระนางเกิดความเมตตาแก่ชาวโลกอย่างหาที่สุดมิได้ พระนางจึงเลือกที่จะไม่เหาะไปไกลกว่าดวงจันทร์ เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ๆ คอยคุ้มครองชาวโลกที่เดือดร้อน ในช่วงพระจันทร์เต็มดวงในฤดูใบไม้ร่วง พระนางจะเสด็จกลับลงมายังโลกเพื่อโปรดเหล่ามนุษย์       
ตำนานเล่าว่า หลายร้อยปีหลังเทพธิดาฉังเอ๋อเสด็จสู่ดวงจันทร์ คนตัดไม้ผู้หนึ่งนามว่า อู๋กัง ได้ลักลอบเข้าไปในสวนภายในเขตวิหารของพระนางซีหวังหมู่ พระแม่เจ้าแห่งตะวันตก เพื่อจะตัดไม้จากต้นหอมหมื่นลี้เก่าแก่ของพระนางไปทำฟืนขาย อู๋กังแบกไม้ไว้บนหลังและเล็ดลอดหนีไปได้ แต่ด้วยความเหน็ดเหนื่อย เขาทิ้งตัวลงนอนพัก และเมื่อลืมตาขึ้น ก็ได้เห็นสวนอันสวยงามแห่งหนึ่ง จึงลุกขึ้นเดินไปจนพบกระต่ายหยกใต้ต้นหอมหมื่นลี้ขนาดยักษ์ เขาจึงถามกระต่ายว่า “นี่คือที่ใดกันหรือกระต่ายตอบว่า นี่เป็นสวนบนดวงจันทร์ของฉังเอ๋ออู๋กังจึงถามต่อว่า แล้วท่านมาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร”                                                
กระต่ายจึงตอบว่า “นานมาแล้ว ปราชญ์ 3 ท่านได้ปลอมแปลงกายเป็นขอทานเพื่อทดสอบคุณธรรมของสุนัขจิ้งจอก ลิง และตัวข้า พวกเขาขออาหารจากเจ้าหมาจิ้งจอก และจิ้งจอกก็ให้องุ่นไป พวกเขาขออาหารจากลิง และลิงก็ให้ผลแตงแก่พวกเขาคนละชิ้น แต่เมื่อพวกเขามาขออาหารจากข้า ข้าก็มีเพียงหญ้าซึ่งคงไม่พอประทังชีวิตพวกเขา ด้วยความสงสาร ข้าจึงขอให้พวกเขากินข้าเป็นอาหาร คุณความดีในครั้งนั้นทำให้ข้ามีวิญญาณอมตะและได้มาอาศัยอยู่ในสวนแห่งนี้ซึ่งข้าจะได้ฝึกวิชาสมุนไพรอย่างมีความสุข แต่สำหรับมนุษย์แล้ว ดวงจันทร์นั้นทั้งกว้างใหญ่และหนาวเย็น”          
แล้วเหตุใดข้าจึงตื่นขึ้นมาในสวนของท่านอู๋กังถาม    
เจ้าตัดต้นหอมหมื่นลี้ศักดิ์สิทธิซึ่งเป็นหลานของต้นหอมหมื่นลี้ที่ให้ร่มเงาแก่สวนบนดวงจันทร์แห่งนี้ เง็กเซียนฮ่องเต้ประมุขแห่งสรวงสวรรค์จึงเนรเทศเจ้ามาที่นี่เป็นการลงโทษ แต่เจ้าสามารถกลับไปยังโลกได้ทันทีที่เจ้าโค่นต้นหอมหมื่นลี้บนดวงจันทร์ได้สำเร็จกระต่ายตอบ                                    
คนตัดไม้ซึ่งคิดถึงครอบครัวของเขาบนโลกมนุษย์ จึงรีบลงมือโค่นต้นไม้ต้นนั้นทันที แต่ทุกครั้งที่เขาใช้ขวานฟันลงไป กิ่งไม้ก็กลับงอกออกมาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เขายังคงตัดแล้วตัดอีกอย่างไม่จบสิ้นจนถึงทุกวันนี้